จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เพราะเป็น “หัวเทียน” แห่งความรู้
ศิลปะและวิทยาศาสตร์ เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน นี่เป็นความเชื่อลึกๆ อันหนึ่ง เป็นกำแพงศรัทธาที่นับวันก็ยิ่งก่อตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสอ่านความคิด สังเกตการทำงาน หรือพบปะพูดคุยกับศิลปิน และนักวิทยาศาสตร์ที่นับถือเพราะรู้สึกว่าพวกเขาต่างได้แรงบันดาลใจจากสิ่งเดียวกัน คือความงดงามในธรรมชาติต่างกันเพียงแค่ – ฝ่ายหนึ่งรับรู้ความงามด้วยอารมณ์ความรู้สึก แล้วถ่ายทอดออกมาเป็น “งานศิลปะ” ตามอารมณ์นั้น ในขณะที่อีกฝ่ายรับรู้ความงามด้วยการใช้เหตุผลวิเคราะห์ความเป็นไป แล้วถ่ายทอดออกมาเป็น “ความรู้” หรือทฤษฎี ตามกระบวนการใช้เหตุผล
สมัยเรียนหนังสือ เพื่อนที่เป็นนักคณิตศาสตร์คนหนึ่ง เคยพยายามอธิบายความงามของ sine curve ในธรรมชาติให้ฟัง ขณะที่เราเดินเล่นด้วยกัน แล้วสังเกตเห็นสายไฟฟ้าเหนือหัวโค้งขึ้นลงเป็น sine curve
แววตาของเขาตอนนั้น เป็นประกายไม่ต่างจากแววตาของอาจารย์วิชาดาราศาสตร์ ตอนอธิบายวิธีใช้กล้องดูดาว ที่อาจารย์เรียกเป็นลูก และไม่ต่างจากประกายในแววตาของเพื่อนจิตรกร ตอนระบายสีบนผืนผ้าใบ ศิลปะและวิทยาศาสตร์ อาจเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน เพราะในศาสตร์มีศิลป์ และในศิลป์มีศาสตร์และเพราะ “ความจริง” อาจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ “ความงาม” ดังวาทะอมตะของ จอห์น คีตส์ (John Keats) กวีชาวอังกฤษ:
“ความงดงามคือความจริงสิ่งที่แท้
ความจริงนั้นงามแน่แม้ไม่เห็น
โลกสอนเจ้าเท่านี้ทุกเช้าเย็น
และนั่นเป็นสิ่งเดียวที่ต้องรู้”
ความจริงนั้นงามแน่แม้ไม่เห็น
โลกสอนเจ้าเท่านี้ทุกเช้าเย็น
และนั่นเป็นสิ่งเดียวที่ต้องรู้”
(Beauty is truth, truth beauty, – that is all
Ye know on earth, and all ye need to know.)
Ye know on earth, and all ye need to know.)
นักวิทยาศาสตร์และศิลปิน อาจมีสิ่งที่เหมือนกัน มากกว่าความแตกต่างผิวเผินที่สื่อโดย “เส้นแบ่ง” ที่ซ่อนอยู่ภายใต้นิยามของคำสองคำนี้
การศึกษาวิเคราะห์ความเหมือนเหล่านี้ อาจทำให้เราเข้าใจทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะดีขึ้น และก็น่าคิดกว่าการจำแนกแจกแจงความแตกต่างด้วย เพราะความต่างนั้นใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว
การศึกษาวิเคราะห์ความเหมือนเหล่านี้ อาจทำให้เราเข้าใจทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะดีขึ้น และก็น่าคิดกว่าการจำแนกแจกแจงความแตกต่างด้วย เพราะความต่างนั้นใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว
วันนี้เริ่มกันที่ “ความเป็นศิลปะ” อย่างหนึ่งในวิทยาศาสตร์ก่อน
……
หนึ่งในวาทะอมตะของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ คือ “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” (imagination is more important than knowledge) ประโยคนี้ไม่ได้หมายความว่า กระบวนการทำงานของวิทยาศาสตร์นั้น ไม่สำคัญเท่ากับจินตนาการของมนุษย์ และไอน์สไตน์ก็ไม่ได้เสนอว่า ทุกคนควรใช้เวลาจินตนาการเพ้อฝันเรื่อยเปื่อย มากกว่าหาความรู้อย่างมีระบบแบบแผนความเข้าใจผิดแบบนี้เกิดขึ้นง่าย ถ้าเราคิดว่า “จินตนาการ” และ “ความรู้” เป็นสองสิ่งที่ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างกันเลย
แต่ในความเป็นจริง จินตนาการและความรู้เกี่ยวโยงกันอย่างลึกซึ้งในวิทยาศาสตร์ ไอน์สไตน์และนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ศึกษาวิจัยปรากฏการณ์ที่ยังไม่มีใครอธิบายได้ เช่น การทำงานของสมองมนุษย์ ล้วนเข้าใจดีว่า จินตนาการเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ ที่นำไปสู่ความรู้ และความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับธรรมชาติเพราะแทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่เราจะค้นพบความรู้ใหม่โดยไม่อาศัยจินตนาการ เพราะสิ่งที่เราไม่รู้นั้น มีตัวแปรและความเป็นไปได้มากมายเป็นพันเป็นหมื่น เกินกว่่่าลำพังเหตุผล และกระบวนการค้นคว้าทดลองในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง จะรวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ออกมาเป็น “ความรู้” ได้และที่ร้ายไปกว่านั้น โดยมากเรามักไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ความจริงที่เรายังไม่รู้นั้น มีหน้าตาขอบเขตอย่างไร เหมือนกับนักสำรวจที่กำลังเดินสำรวจถ้ำมืด ที่ไม่มีใครเคยเข้ามาก่อนตราบใดที่นักสำรวจยังหาทางออกไม่เจอ เขาก็ไม่สามารถระบุอย่างแน่ชัดว่า ถ้ำนี้มีขนาดกว้างยาวเท่าไหร่ และไปโผล่ที่ไหนต้องอาศัยการคาดเดาอย่างมีเหตุผล สัญชาติญาณ และจินตนาการ ผสมรวมกันในการตัดสินใจเลือกว่าจะเดินทางไหน ทุกครั้งที่เจอทางสองแพร่งหรือมากกว่า ท่ามกลางหลืบถ้ำอันสลับซับซ้อนระหว่างสำรวจถ้ำ นักสำรวจบันทึกเส้นทางที่เขาใช้ลงในแผนที่ และทาสีหินไปเรื่อยๆ จนเจอทางออกนักสำรวจอาจเจอทางออกอีกทาง ที่ไม่เคยคาดคิดว่ามีอยู่ก็ได้
(เหมือนยาไวอะกร้า (Viagra) ที่โด่งดัง เกิดขึ้นหลังจากที่นักวิจัยประสบความล้มเหลวในการคิดค้นยาชื่อซิลเด็นนาฟิล (sildennafil) ซึ่งตั้งใจผลิตเพื่อรักษาโรคหัวใจ แต่กลับพบว่ายานี้สามารถรักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายได้) งานของนักสำรวจ ทำให้คนอื่นๆ สามารถมาเที่ยวชมถ้ำนี้ได้ โดยอาศัยแผนที่ และสีที่เขาทาไว้ตามหิน โดยไม่ต้องกลัวว่าจะหลงทาง
……
จอห์น ดูวี่ย์ (John Dewey) นักปรัชญาชาวอเมริกัน กล่าวว่า “การค้นพบในวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ทุกอย่าง เกิดจากจินตนาการที่แรงกล้ากว่าเดิม” (Every great advance in science has issued from a new audacity of imagination.) เมื่อนักวิทยาศาสตร์เกิดจินตนาการ เขาต้องสามารถ “โยง” จินตนาการนั้น ให้เชื่อมต่อกับความรู้เดิมที่มีอยู่ ด้วยหลักเหตุผล เพื่อให้เกิดการค้นพบ เป็น “ความรู้” ขึ้นมาได้ไม่อย่างนั้นความรู้ก็จะไม่มีวันเกิดจากจินตนาการ เหมือนคนธรรมดาที่ถูกลูกแอปเปิ้ลตกใส่หัว ก็อาจจินตนาการว่านี่เป็นการลงโทษจากพระเจ้า เพราะไม่มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ กลศาสตร์ และไม่ได้กำลังคิดเรื่องแรงโน้มถ่วง เหมือนเซอร์ไอแซ็ค นิวตันถ้าเขียนเป็นสมการ อาจได้ประมาณนี้:
ความบังเอิญ + ความรู้เดิม + จินตนาการ = การคาดเดาอย่างชาญฉลาด (intelligent guess) –> การค้นพบทางปัญญา (intellectual discovery)
การค้นพบทางปัญญา + บทพิสูจน์จากการทดลอง หรือคณิตศาสตร์ = ความรู้ที่พิสูจน์ได้
ฝรั่งเรียกการค้นพบทางปัญญาที่มีความบังเอิญเป็นองค์ประกอบที่เด่นที่สุดว่า “serendipity” (ซึ่งเป็นคำที่ชาวอังกฤษทั่วประเทศ โหวตให้เป็นคำที่พวกเขาชอบที่สุด เมื่อปี 2543) จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เพราะหากเราไร้จินตนาการ องค์ความรู้ของเราก็จะถูกแช่แข็ง หยุดนิ่งอยู่กับที่ตลอดไป เราจะไม่สามารถค้นพบสัจธรรมใหม่ๆ ในธรรมชาติ ที่จะช่วยเพิ่มพูนและปรับเปลี่ยนองค์ความรู้ของเรา ให้ครบถ้วน ถูกต้อง และถ่องแท้กว่าเดิมที่สำคัญที่สุดคือ นักวิทยาศาสตร์ที่ไร้จินตนาการ จะไม่สามารถคิดอย่าง “บูรณาการ” (integrated thinking) คือนำความรู้จากนอกสาขาวิชาของตน มาประยุกต์ใช้ หรือวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ในสาขาวิชาที่ตัวเองถนัด โดยเฉพาะระหว่างกลุ่ม “วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ” เช่น คณิตศาสตร์ ชีววิทยา เคมี และฟิสิกส์ และกลุ่ม “วิทยาศาสตร์สังคม” เช่น มนุษยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการเมืองเพราะความรู้ และการค้นพบใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นในปัจจุบัน มักมาจากการวิเคราะห์สังเคราะห์ และประยุกต์ใช้ความรู้เดิมแบบบูรณาการ เช่น ใช้ความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับการทำงานของสมองมนุษย์ มาตีความพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้เงินในเศรษฐศาสตร์ ใช้โมเดลทางฟิสิกส์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการวิวัฒนาการตามธรรมชาติระบบเครือข่าย มาอธิบายโครงสร้างสังคมเมืองยุคใหม่ ใช้ความรู้ด้านธรณีวิทยาและชีววิทยา มาอธิบายประวัติศาสตร์มนุษยชาติในระดับทวีป ฯลฯ จินตนาการจึงเปรียบเสมือน “หัวเทียน” จุดประกายให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในความพยายามที่จะหลอมรวมองค์ความรู้ด้านต่างๆ ของเรา เข้าเป็นองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เมื่อผนวกกับฐานความรู้เดิม จินตนาการทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถ “คาดเดาอย่างชาญฉลาด” (intelligent guess) ได้ ซึ่งการคาดเดาเหล่านี้ เมื่อมีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นด้านทฤษฎีหรือจากการทดลอง ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับว่าเป็นความรู้
บทความต่อไปนี้ยกตัวอย่างของการคาดเดาอย่างชาญฉลาดในวิทยาศาสตร์ ได้อย่างน่าสนใจและน่าคิด:
บทความต่อไปนี้ยกตัวอย่างของการคาดเดาอย่างชาญฉลาดในวิทยาศาสตร์ ได้อย่างน่าสนใจและน่าคิด:
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น